" คุณธรรมเป็นมาตรฐาน บริการด้วยใจ "

Opening Hours : open 24 hours, every day
Contact : 02 901 8400 ถึง 8 , 097 004 7046 , 097 007 0871

สถานการณ์การโควิดในเด็กไทย

On line hemodialysis

สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กไทย

พญ.สิริกร สุรัตนวนิช
พญ.ณหทัย อภิราชกมล
พญ.สุภัทรา วรรณประเสริฐ

ในปัจจุบัน พบเด็กไทยติดเชื้อโควิด-19 เป็นสัดส่วนที่มากขึ้น นับตั้งแต่เมษายน-กันยายน 2564 พบเด็กไทยติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 1 แสน 8 หมื่นคน คิดเป็นร้อยละ 10-12 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งส่วนมากเป็นการติดเชื้อจากสมาชิกในครอบครัว โดยการติดเชื้อในเด็กมักเป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยเด็กเสียชีวิตประมาณ 31 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น สมองพิการ โรคหัวใจ โรคปอด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง อ้วน และอายุน้อยกว่า 1 ปี เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่สำคัญภายหลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 4-6 สัปดาห์ คือ การอักเสบของอวัยวะหลายระบบในร่างกายที่เรียกว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Children (MIS-C) โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ช็อค ผื่น ตาแดง ปากแดง ต่อมน้ำเหลืองโต ถ่ายเหลว และอวัยวะภายในหลายระบบทำงานผิดปกติ ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจวาย ไตวาย ชัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ คล้ายกับโรคคาวาซากิ โดยพบภาวะนี้ได้ประมาณ 1-2 ราย จากผู้ป่วยติดเชื้อ 1 แสนราย

คำแนะนำในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก

อ้างอิงตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย วันที่ 22 กันยายน 2564 แนะนำให้เด็กและวัยรุ่นฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งประเทศไทย คือวัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer-BioNTech จำนวน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ขึ้นไป หรือ Moderna จำนวน 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ขึ้นไป โดยให้คำแนะนำดังนี้

  • เด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 16 ปีจนถึงน้อยกว่า 18 ปี แนะนำให้ฉีดทุกราย หากไม่มีข้อห้ามในการฉีด เพราะเป็นกลุ่มอายุที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการดำเนินชีวิตใกล้เคียงกับผู้ใหญ่และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็ก และวัยรุ่นมากเพียงพอ
  • เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปจนถึงน้อยกว่า 16 ปี แนะนำดังนี้ เด็กและวัยรุ่นชายที่แข็งแรง ให้รับวัคซีน เข็มที่1 และ ชะลอการให้เข็มที่ 2ไปก่อน จนกว่าจะมีคำแนะนำเพิ่มเติม (เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้พบอาการข้างเคียงเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้สูงและสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2)

เด็กและวัยรุ่นชายที่เป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีโรค เรื้อรัง ดังต่อไปนี้

  1. บุคคลที่มีโรคอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือมีน้ำหนัก 70 กิโลกรัม ขึ้นไปในเด็กอายุ 12-13 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัมขึ้นไปในเด็กอายุ 13-15 ปี น้ำหนัก 90 กิโลกรัมขึ้น ไปในเด็กอายุ 15-18 ปี หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจ อุดกั้น)
  2. โรคทางเดินหายใจเรือรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
  3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
  4. โรคไตวายเรื้อรัง
  5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  6. โรคเบาหวาน
  7. กลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
แนะนำให้ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์

เด็กและวัยรุ่นหญิงทุกคน สามารถรับวัคซีน 2 เข็มห่างกัน อย่างน้อย 3 สัปดาห์

แนะนำให้งดออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ภายหลังจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 เนื่องจากมีรายงานการเกิดผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบภายหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งพบในอัตราที่ต่ำมาก

สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ชนิดอื่นๆ ในเด็กและวัยรุ่น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามผลการศึกษาถึงประสิทธิภาพ และความปลอดภัยเพิ่มเติม

ด้วยความปรารถนาดีจาก.. โรงพยาบาลภัทร-ธนบุรี