" คุณธรรมเป็นมาตรฐาน บริการด้วยใจ "

Opening Hours : open 24 hours, every day
Contact : 02 901 8400 ถึง 8, 097 004 7046, 097 007 0871

วัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับผู้สูงวัย

วัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับผู้สูงวัย

วัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันสำหรับผู้สูงวัย

ผู้สูงวัยมีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพมากกว่าวัยอื่น ทั้งจากสภาพร่างกาย โรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันเริ่มลดลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายขึ้น และเมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วอาจมีอาการป่วยรุนแรงกว่าที่คิด การได้รับวัคซีนจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเพื่อป้องกันโรคที่เสี่ยงได้

5 วัคซีนสำคัญสำหรับผู้สูงวัย

1. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Influenza vaccine)

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจที่พบบ่อยและมักจะมีการระบาดช่วงฤดูฝน อาการโดยทั่วไป ได้แก่ ไข้, ไอ, ปวดเมื่อยตามตัว ในผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงอาการจะหายเองในเวลา 3-5 วัน แต่ในผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน มักมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

วัคซีนนี้จึงมีประโยชน์มาก โดยในแต่ละปีจะมีการคัดเลือกสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่ที่มีแนวโน้มจะระบาดมาผลิตเป็นวัคซีนประจำฤดูกาล เนื่องจากในแต่ละปีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่อาจจะมีการเปลี่ยนสายพันธุ์และในทุกปี ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันได้ลดลงด้วย การรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลทุกปีจึงช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานได้เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ประกอบไปด้วย ชนิด A 2 สายพันธุ์ และ ชนิด B 2 สายพันธุ์ วัคซีนสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ และมีประสิทธิภาพสูงถึง 90% ในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ในวัคซีนที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดในขณะนั้น นอกจากมีความปลอดภัยสูงแล้วยังช่วยลดโอกาสการป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ

คำแนะนำ : ผู้สูงอายุทุกคนควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี ทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 1 ปี สามารถฉีดได้เลยโดยให้ห่างจากโดสก่อนอย่างน้อย 6 เดือน

อาการข้างเคียง : อาจปวดบริเวณที่ฉีด มีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตัว


2. วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ หรือวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Pneumococcal Vaccine)

ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Pneumococcal disease) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โดย เชื้อจะติดต่อเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสเชื้อเข้าสู่เยื่อบุจมูกหรือลำคอ หากเกิดการติดเชื้อจะก่อให้เกิดโรคปอด อักเสบเฉียบพลัน ทำให้ไอมีเสมหะ หอบเหนื่อย มีไข้ และหากเชื้อรุกรานมากขึ้นจะกลายเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสแบบรุกราน (Invasive pneumococcal disease) หมายถึง เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิตหรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

วัคซีนป้องกันเชื้อปอดบวมนี้สามารถครอบคลุมโรคได้ประมาณ 68-78 % จึงแนะนำให้ฉีดในผู้สูงวัย อายุ65 ปีขึ้นไป และ กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อปอดอักเสบ

คำแนะนำ : สำหรับผู้สูงอายุ 65ปีขึ้นไป ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบมาก่อน : ฉีดวัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ 1 เข็มก่อน หลังจากนั้นอีก 1 ปี ฉีดชนิด 23 สายพันธุ์ อีก 1 เข็ม

อาการข้างเคียง : ปวด บวม แดงบริเวณที่ฉีด, ไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว


3. วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus vaccine)

ไวรัสตับอักเสบบีพบมากในคนไทย เกิดจากการอักเสบของเซลล์ตับที่มาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยติดต่อได้ทางเลือดและสารคัดหลั่ง อาการที่พบมักอ่อนเพลีย มีไข้ต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน ตาเหลือง ตัวเหลือง จุกแน่นใต้ชายโครงขวา ปัสสาวะสีเข้ม หากติดเชื้อเรื้อรังอาจนำไปสู่การมีพังผืดจนตับแข็งและพัฒนาไปเป็นโรคมะเร็งตับได้

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีจึงมีความสำคัญมาก เพราะนอกจากป้องกันโรคตับอักเสบบี ยังป้องกันความผิดปกติหลังติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ในระยะยาว

คำแนะนำ : สำหรับผู้ใหญ่ทุกคนที่ไม่เคยติดเชื้อหรือไม่เคยได้วัคซีนมาก่อน ** ควรฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน

** หากไม่มั่นใจว่าเคยฉีดวัคซีนหรือมีภูมิคุ้มกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมาก่อนแล้วหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีดวัคซีน


4. วัคซีนงูสวัด (Zoster Vaccine)

การเกิดโรคงูสวัดเพิ่มขึ้นมากอย่างชัดเจนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่สำคัญคือ อาการปวด แสบร้อนตามผิวหนัง อาจเกิดแผลที่กระจกตา ตาอักเสบ ผู้สูงอายุมักจะมีอาการรุนแรง มีผื่นลามไปหลายตำแหน่ง หรืออาจมีการติดเชื้อขึ้นสมอง และยังมีอาการนานกว่าคนอายุน้อย จากการศึกษาในผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนพบว่าสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ 51.3 % ในช่วง 3 ปีหลังได้รับวัคซีน จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคและอาการแทรกซ้อนดังกล่าว

คำแนะนำ :**แนะนำวัคซีนป้องกันงูสวัดชนิดไม่ใช่เชื้อเป็น – ยี่ห้อ Shingrix ในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้น แนะนำให้ฉีด 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่าง 2 – 6 เดือน

มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัดสูงถึง 97.2% และป้องกันอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังจากการติดเชื้อได้ถึง 91.2%

รวมถึงมีผลการป้องกันต่อเนื่องในระดับสูงยาวนานมากกว่า 10 ปี โดยวัคซีนชนิดนี้สามารถใช้ได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง

**แนะนำให้ฉีดโดยไม่ต้องคำนึงว่าเคยเป็นโรคอีสุกอีใสหรือเคยรับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมาก่อนหรือไม่ และในกรณีที่เป็นโรคงูสวัดมาก่อนสามารถให้วัคซีนงูสวัดได้หลังจากโรคงูสวัดหายแล้วอย่างน้อย 6 เดือน

ข้อควรระวัง : วัคซีนปอดอักเสบ และ วัคซีนงูสวัด ต้องเว้นระยะการฉีดห่างกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์


5. วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน Tdap

โรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน เป็นโรคอันตรายที่เกิดจากแบคทีเรีย โรคคอตีบและไอกรนเป็นการแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ส่วนเชื้อบาดทะยักเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลหรือรอยขีดข่วน

โรคคอตีบ : ทำให้เกิดเนื้อหนาๆ ปิดอยู่หลังลำคอ ทำให้เกิดปัญหากับระบบหายใจ, อัมพาต, หัวใจล้มเหลวและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

โรคบาดทะยัก (อาการขากรรไกรแข็ง) : ทำให้เกิดอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ มักเป็นทั่วร่างกาย สามารถนำไปสู่อาการขากรรไกรแข็ง ทำให้ไม่สามารถอ้าปากหรือกลืนอาหารได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

โรคไอกรน (Whooping Cough) : ทำให้เกิดอาการไออย่างรุนแรงจนผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือหายใจได้ ใช้เวลาเป็นสัปดาห์กว่าจะหาย อาจทำให้เกิดโรคปอดบวม ลมชัก สมองพิการหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

ในผู้สูงวัย ภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน ที่ได้รับมาในวัยเด็กจะลดลง จึงควรได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้น เพื่อช่วยลดความเจ็บป่วยและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษา หากถูกของมีคมสกปรกทิ่มแทง รวมทั้งยังช่วยป้องกันโรคคอตีบและไอกรน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่คลุกคลีกับลูกหลานที่เป็นเด็ก มีความเสี่ยงในการติดโรคเหล่านี้จากเด็กหรือเอาโรคเหล่านี้ไปติดเด็กๆ ได้หากภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ

คำแนะนำ :
**ผู้สูงอายุที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนแนะนำให้ฉีดวัคซีนรวมบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน (Tdap) 1 เข็ม จากนั้นฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน บาดทะยัก-คอตีบ (Td) ทุก 10 ปี
**หากเคยได้รับวัคซีนมาก่อนแล้ว ควรกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน บาดทะยัก-คอตีบ (Td) ทุก 10 ปี

อาการข้างเคียง : ส่วนใหญ่มักไม่มีปัญหาใด แต่อาจปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด ให้ประคบเย็น โดยอาการมักหายเองภายใน 1-2 วัน นอกจากนี้อาจพบว่ามีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย รู้สึกอ่อนเพลีย


วัคซีนเสริม/ทางเลือกสำหรับผู้ใหญ่- ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว

1. วัคซีนหัด คางทูม และหัดเยอรมัน

ในปัจจุบันมีวัคซีนรวมที่ประกอบไปด้วยเชื้อไวรัสมีชีวิตที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ที่ผลิตจากเชื้อไวรัส Mump, Measles และ Rubella มีข้อบ่งใช้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่
จากการศึกษาพบว่า หลังการให้วัคซีน 2 เข็มในเด็ก จะมีประสิทธิภาพในการป้องกัน โรคหัดจนถึงในเด็กวัยเรียนและผู้ใหญ่ สำหรับภูมิคุ้มกันต่อโรคคางทูม หลังได้รับเข็มที่ 2 จะมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ร้อยละ 66-95 และสำหรับโรคหัดเยอรมันนั้น หลังได้รับวัคซีนเพียง 1 เข็ม จะมีภูมิคุ้มกันป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต

คำแนะนำสำหรับผู้ใหญ่ :
• หากไม่เคยหรือไม่ทราบประวัติมาก่อน แนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน
• ผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ และยังไม่เคยมีประวัติการได้รับวัคซีน แนะนำให้ฉีดวัคซีน 1 เข็ม และควรฉีดก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน
• หากมีการระบาดของโรคคางทูม หัด และหัดเยอรมัน แนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน

อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย : เช่น ไข้ มักเกิดอาการภายใน 6-12 วันหลังได้รับวัคซีน ผื่นคัน อาการแพ้ หรือข้ออักเสบ เป็นต้น


2. วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella vaccine)

โรคอีสุกอีใส (Chickenpox หรือ Varicella) เป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายได้ง่าย มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella-zoster virus, VZV) โดยเชื้อไวรัสนี้จะทำให้เกิดผื่นตุ่มน้ำใส คัน ซึ่งมักจะเริ่มจากบริเวณหน้าอก หลัง และใบหน้าก่อน จากนั้นจึงลามไปบริเวณอื่นๆ ทั่วร่างกาย ร่วมกับมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และปวดศีรษะ

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อที่ผิวหนัง ปอดอักเสบ หลอดเลือดอักเสบ สมองอักเสบ รวมถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด กระดูกและข้อ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนอาจป่วยเป็นโรคงูสวัด (Shingles หรือ Herpes zoster) ในอนาคตได้

ทารกแรกเกิด วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรงหากป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ อีกด้วย

ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสจึงเป็นสิ่งที่แนะนำสำหรับทุกคน วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส เป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ เตรียมจากเชื้อไวรัสวาริเซลลาที่ถูกทำให้อ่อนแรงลง การได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการเกิดโรคและช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วยังอาจมีโอกาสป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส แต่อาการที่เกิดมักไม่รุนแรง และหายป่วยเร็วกว่าผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน

คำแนะนำ :สำหรับทุกคนที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน และยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
• เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 13 ปี ควรได้รับวัคซีนจำนวน 2 เข็ม
        เข็มแรก : ช่วงอายุ 12 ถึง 15 เดือน
        เข็มที่สอง : ช่วงอายุ 18 เดือน ถึง 4 ปี
• ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนจำนวน 2 เข็ม โดยห่างกัน 4-8 สัปดาห์
        อาการข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ (เกิดขึ้นภายใน 5-12 วัน หลังการได้รับวัคซีน)


3. วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A virus vaccine)

โรคนี้ติดต่อจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง ผู้ที่มีอาชีพประกอบอาหาร แนะนำให้ฉีดทุกคนที่ยังไม่มีภูมิ และในกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ป่วยที่ต้องฟอกเลือด ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมทางเพศ เช่น รักร่วมเพศหรือ มีคู่รักหลายคน ผู้ป่วยโรคไตที่ฟอกไต และบุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขา

คำแนะนำ :แนะนำแก่ผู้ใหญ่ทั่วไปที่ต้องการรับวัคซีนและไม่เคยติดเชื้อหรือได้รับวัคซีนมาก่อน โดยฉีด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ให้ฉีดห่างกัน 6 เดือน (0, 6)


4. วัคซีนไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเดงกี่ที่มีการระบาดทุกปี ติดต่อจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อมากัด ทำให้มีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ความดันโลหิตต่ำ บางกรณีอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องจากตับอักเสบได้ กรณีรุนแรงสามารถทำให้มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกได้ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจงกับตัวโรค จึงเป็นการรักษาไปตามอาการ ที่สำคัญ ‘เคยเป็นแล้วก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก’ และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ‘ยิ่งเป็นซ้ำอาการก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น’

วิธีการป้องกันที่ดีที่สุดนอกจากการระวังไม่ให้ถูกยุงกัด ก็คือ การฉีดวัคซีนไข้เลือดออกนั่นเอง
วัคซีนไข้เลือดออกในประเทศไทย ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
        1. วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ชนิด 3 เข็ม (Dengvaxia)
        ชนิดของวัคซีน : วัคซีนเดงวาเซีย (Dengvaxia) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์
        การฉีดวัคซีน : จะฉีดบริเวณต้นแขน ห่างกันเข็มละ 6 เดือน เมื่อฉีดครบ 3 เข็ม จะป้องกันไข้เลือดออกได้เป็นระยะเวลา 5-6 ปี
        ประสิทธิภาพ : ป้องกันเชื้อไวรัสไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ 80% ลดความรุนแรงของโรคได้ 80% และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ 75%

        2. วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ชนิด 2 เข็ม (QDenga)
        เป็นวัคซีนไข้เลือดออกตัวล่าสุด ที่พัฒนาโดยใช้ Backbone ของไข้เลือดออกสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุดในประเทศไทย
        ชนิดของวัคซีน : วัคซีนคิวเดงกา (Qdenga) เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์
        การฉีดวัคซีน :จะฉีดบริเวณต้นแขน ห่างกันเข็มละ 3 เดือน
        ประสิทธิภาพ : ป้องกันเชื้อไวรัสไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ 80% ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล และลดความรุนแรงของโรคได้ 90.4%

วัคซีนเดงวาเซีย (Dengvaxia) ัคซีนคิวเดงกา (Qdenga)
เหมาะกับผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน สามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่ไม่เคยป่วย และ เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาแล้ว
หากผู้ที่ไม่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน ต้องการจะรับวีคซีนนี้ จำเป็นจะต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด ไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด
สามารถใช้ได้ในผู้ที่มีอายุ 6-45 ปี สามารถใช้ได้ในผู้ที่มีอายุ 4-60 ปี
ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ห่างกันเข็มละ 6 เดือน ฉีด 2 เข็ม ห่างกันเข็มละ 3 เดือน

ข้อแนะนำเพิ่มเติม : ให้เว้นระยะห่างจากการฉีดวัคซีนเชื้อเป็นอื่นๆ อย่างน้อย 4 สัปดาห์ อาการข้างเคียงที่พบได้คือ ปวด ห้อเลือด บวมและคันบริเวณที่ฉีด ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว มีไข้ต่ำๆ


แพ็กเกจและโปรโมชั่น